More

    ทำความรู้จัก ประเภทของรถแต่ละชนิด ในปี 2022

    ยังมีอีกหลายคนที่ยังงง การจัดประเภทของรถสมัยนี้ มีเยอะแยะมากมาย สับสนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแบบ Segment A B C D ที่วงการรถทั่วโลกเขาเรียกกันก็ไม่รู้ว่าจำแนกยังไง คือ การจำแนกประเภทรถเหล่านี้มันคือการจำแนกแบบ Euro Car Segment เริ่มใช้ในปี 1999 และถูกใช้ต่อ ๆ กันมาอย่างแพร่หลายทั่วโลก จริงๆแล้วการแบ่งประเภทรถยนต์นั้นแบ่งโดยวัดกันที่ขนาดรถหรือขนาดเครื่องยนต์อีกทั้งยังเรื่องอุปกรณ์ภายใน ความหรูหราและราคาซึ่งการแบ่งประเภทรถยนต์มีดังต่อไปนี้

    ประเภทรถเก๋ง รถยนต์นั่งทั่วไป ที่คนไทยติดเรียกกันว่า รถเก๋ง ส่วนมากจะเป็นรถทรงซีดาน 4 ประตู แต่ตอนนี้ก็จะมีรถแฮชแบ็ก 5 ประตูมาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งรถประเภทนี้จะแบ่งประเภทแยกย่อยออกมาเรียกเป็นกลุ่มตัวอักษร ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ เช่น B-Segment หรือ C-Segment โดยจะแบ่งแยกแบบย่อยจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้ง ราคา ขนาดเครื่องยนต์ หรือขนาดของตัวถัง แต่บางครั้ง ค่ายรถยนต์บางค่ายก็ไม่ได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวมาเป็นตัวตัดสินใจในการผลิตรถของตัวเอง ซึ่งก็อยู่ที่ว่าพวกเขาจะวางตำแหน่งของรถตัวเองไว้อย่างไร ซึ่งจะแบ่งแยกประเภทไว้ดังนี้

    • Eco Car นับว่าเป็นหมวดหมู่รถที่เรียกกันเฉพาะในประเทศไทย (เมืองนอกจะเรียกว่า A-Segment หรือ ซิตี้คาร์) เพราะเป็นชื่อของโครงการที่รัฐบาลและสำนักการลงทุนผลักดันให้เกิดขึ้น โครงการ Eco Car มีการตั้งเกณฑ์ อัตราการกินน้ำมันต่ำและอัตราการปล่อยไอเสียน้อย หากค่ายรถสามารถผลิตออกมาตามเกณฑ์ได้ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีพิเศษจากรัฐ

    คำว่า Eco ย่อมาจาก Ecology ซึ่งหมายความว่า Eco Car คือรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่ารถยนต์พลังงานน้ำมันประเภทอื่นนั่นเอง

    รถยนต์ในประเภทนี้: Nissan March, Nissan Almera, Mitsubishi Mirage, Toyota Yaris และ Suzuki Swift เป็นต้น

     

    • B-Segment  เป็นเหมือนรถเก๋งรุ่นเริ่มต้นของคนไทยที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ก่อนที่ Eco Car จะเกิดขึ้นในไทย โดยรวมขนาดของตัวรถจะใหญ่ขึ้น และขนาดเครื่องยนต์จะใหญ่กว่า Eco Car (แต่ในอนาคต รถยนต์หมวดหมู่นี้ในไทยอาจจะนับรวมไปกับ Eco Car ได้เช่นกัน เนื่องจากกฎเกณฑ์ของโครงการ Eco Car เฟส 2 ที่จำแนกประเภทรถและเข้าข่าย

    รถยนต์ในประเภทนี้: Honda City, Honda Jazz, Toyota Vios และ Mazda 2 เป็นต้น

    • C-Segment รถเก๋ง 5 ที่นั่ง ที่จะได้รับการอัพเกรดจาก B-Segment ทุกอย่างทั้งขนาดของรถ ความกว้างภายใน เครื่องยนต์ รถประเภทนี้มีขนาดกำลังพอดีไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เหมาะกับคนทั่วไป หรือครอบครัวขนาดเล็กถึงกลางที่ใช้งานทั่วไป หรือจะสามารถขับทางไกลได้ประมาณนึง

    รถยนต์ในประเภทนี้: Honda Civic, Toyota Corolla Altis, Mazda 3 และ Nissan Sylphy

    • D-Segment รถเก๋งตัวท็อปที่สุดที่มีให้เลือกในตลาด ขนาดของรถจะใหญ่ขึ้น ภายในกว้างขึ้น รวมถึงสมรรถภาพของรถก็จะถูกอัพเกรดให้พรีเมี่ยมมากขึ้น ออปชันที่ใส่เข้ามาจะจัดเต็มที่สุดในบรรดารถเก๋ง รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็มักจะถูกนำมาใส่เป็นตัวเลือกในรถหมวดหมู่นี้เป็นประเภทแรก (เช่นระบบ Hybrid ของ Toyota ที่จะมาลงใน D-Segment ก่อนใครเพื่อนนั่นเอง)

    รถยนต์ในประเภทนี้: Toyota Camry, Honda Accord และ Nissan Teana

    นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมี E-Segment และ F-Segment ที่เป็นรถเก๋งระดับหรูหราขึ้นไปอีก แต่ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

     

    ประเภทรถอเนกประสงค์ รถยนต์ประเภทนี้คือรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถเก๋ง คือเป็นรถที่มีความอเนกประสงค์สามารถทำได้หลายอย่าง ทั้งเดินทางไกล ขับลุยเส้นทางขรุขระ บรรทุกของ หรือบรรทุกคนจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะครบเครื่องแบบนี้ทุกรุ่น เพราะรถประเภทนี้ก็ถูกแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายประเภทเช่นกัน โดยแบ่งประเภทย่อยดังนี้

     

    • C-Segment รถเอสยูวีคือรถอเนกประสงค์ ที่ตัวรถยกสูงทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งทางเรียบและสามารถลุยเส้นทางขรุขระได้ โดยส่วนใหญ่จะดีไซน์แนวสปอร์ต โฟร์วิล ภายในมีความกว้างขวาง ด้านหลังสามารถบรรทุกของได้เยอะและบางยี่ห้อบางรุ่นสามารถปรับเบาะให้เป็นรถ 7 ที่นั่งได้

    รถยนต์ในประเภทนี้: Honda CR-V, Mazda CX-5, Nissan X-Trail และ Subaru Forester เป็นต้น

    • Crossover Utility Vehicle (CUV) รถครอสโอเวอร์ คือรถที่เอาพื้นฐานของรถเก๋งหรือแฮชแบ็กมายกให้สูงขึ้น ทำให้รถมีฟีลลิ่งการขับขี่ที่นุ่มนวลสมูทกว่ารถเอสยูวี แต่ไม่สามารถที่จะขับลุยทุกสถานการณ์ได้เท่ารถเอสยูวี ความอเนกประสงค์ก็น้อยลงมาตามกัน เพราะตัวรถและพื้นที่เก็บของด้านท้ายจะเล็กกว่า

    รถยนต์ในประเภทนี้: Toyota CH-R, Honda HR-V, MG ZS, Mazda CX-3 และ Subaru XV เป็นต้น

    • Multi Purpose Vehicle (MPV) เป็นรถอเนกประสงค์แต่ไม่ได้ถูกยกสูงจึงสามารถลุยได้เท่ารถเอสยูวี และดีไซน์จะตัดความสปอร์ตจากรถเอสยูวีออกไป รถจึงเป็นรูปทรงกล่องยาวๆ คล้ายกับรถตู้ แต่เล็กกว่าและสั้นกว่า  จุดเด่นของรถ MPV คือสามารถโดยสารคนได้ถึง 7 ที่นั่ง และที่นั่งแถวสุดท้ายก็จะมีความกว้างกว่าในรถเอสยูวีบางรุ่นที่สามารถปรับให้เป็น 7 ที่นั่งได้ ปัจจุบันในไทยนั้นมีรถ MPV ขายแค่ตัวเดียว เพราะส่วนมากที่ขายในตลาดจะเป็น MPV ที่ถูกย่อลงส่วนมาให้เล็กลงเป็นประเภท Mini MPV

    รถยนต์ MPV : Toyota Innova

    รถยนต์ Mini MPV : Mitsubishi Xpander, Honda BR-V, Suzuki Ertiga, Honda Mobility, Toyota Sienta และ Toyota Avanza

    • Pick-up Passanger Vehicle (PPV) รถเอสยูวี แต่ที่แตกต่างจากเอสยูวีธรรมดาคือรถ PPV จะสร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถกระบะ ซึ่งจะพร้อมลุยมากกว่าเอสยูวีปกติ และยังคงความอเนกประสงค์ครบครัน  สาเหตุที่ต้องเรียกรถชนิดนี้ว่าเป็นรถ PPV เพราะเคยมีราชกิจจานุเบกษาจากกระทรวงการคลังออกมาในปี 2547 ที่กำหนดคุณลักษณะให้รถประเภทนี้

    รถยนต์ประเภทนี้ : Toyota Fortuner, Isuzu Mu-X, Mitsubishi Pajero Sport และ Ford Everest เป็นต้น

     

    ปรเภทกระบะ น่าจะเป็นประเภทนี้หลายคนรู้จักดีอยู่แล้ว เพราะเป็นรถที่มียอดขายดีมากที่สุดในบ้านเรา

    รถกระบะถูกสร้างมาเพื่อบรรทุกของจำนวนมาก และสามารถนำไปลุยได้ทุกพื้นผิวเพราะมีช่วงล่างที่แข็งแกร่ง

    รถกระบะนั้นก็จะแบ่งแยกออกเป็นแบบ 2 ประตู ที่เน้นการบรรทุกอย่างเดียว และ 4 ประตู ที่รองรับทั้งบรรทุกของและใช้งานทั่วไป

    ตัวอย่างรถยนต์ประเภทนี้ : Toyota Hilux Revo, Isuzu D-Max, Ford Ranger, Mitsubishi Triton และ Nissan Navara เป็นต้น

    หวังว่าการเรียบเรียงประเภทของรถแต่ละชนิดนี้จะช่วยให้คลายข้อสงสัยของหลาย ๆ คนที่อาจจะยังไม่ทราบถึงวิธีการจัดประเภทของแต่ละค่ายนะคะ 


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts